06 July 2013

Negotiation

หลังจากอ่าน blog เรื่องการต่อรองจากหลายแหล่ง ทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการต่อรองใหม่ เป็น "ต้องฝึกต่อรอง" จากเดิมที่ "หลีกหนีการต่อรอง" เหตุผลก็เพราะว่า
  • มีเงินมากขึ้น ถ้าเราไม่เป็นฝ่ายเอ่ยปากต่อราคาสินค้า ผู้ขายคงไม่ขอลดเอง
  • ส่งผลเสียในระยะยาว หากเราไม่ต่อรองเรื่องเล็กน้อยไม่กี่ครั้งก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อนับรวมหลายครั้งตลอดระยะเวลาหลายปี รวมเม็ดเงินที่พลาดไปก็ไม่ใช่น้อย
  • ได้ใช้แน่ ทุกครั้งที่มีการเจรจา แน่นอนว่าต้องมีการต่อรองเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ซื้อขายสินค้า ต่อรองเงินเดือน ต่อรองประนอมหนี้

กระบวนการต่อรองและรายละเอียดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งไม่เหมือนกันในทุกครั้ง แต่จะมีกฏเหล็กที่ต้องจำไว้เสมอ ดังนี้

ห้ามบอกตัวเลขก่อน (Never name the first number)


ก่อนเข้าทำการซื้อขาย เราต้องมีราคาในใจเก็บไว้เสมอ แต่ต้องไม่เป็นฝ่ายเอ่ยปากพูดออกไปก่อน เพราะ หากเราเสนอราคาขายก่อน จะเป็นการเปิดเผยราคาในใจ และบอกโดยนัยว่าพอใจที่ราคานี้ ทำให้ราคาดังกล่าวเป็นราคาสูงสุดโดยอัตโนมัติ และฝ่ายตรงข้ามจะอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่าทันที เพราะยังไม่ได้เปิดเผยว่าพอใจที่ราคาไหน ทำให้สามารถต่อรองลดราคาให้ต่ำลงได้

ต่อรองโดยไม่เปิดเผยเป้าหมายของเรา


ในขณะที่ต่อรองราคา ต้องไม่บอกราคาในใจของเรา เช่น อีกฝ่ายเสนอมาที่ 9,000 บาท ถ้าเราต่อรองว่าเพิ่มเป็นราคา 10,000  บาท หรือกล่าวว่าเพิ่มจากเดิมอีก 1,000 บาท นั่นจะเป็นการเปิดเผยว่าเราพอใจที่ 10,000 บาท และการต่อรองจะสิ้นสุดลง แต่ถ้าเราต่อรองอีกฝ่ายว่า ของเพิ่มอีกหน่อย ราคานี้ยังไม่พอใจ อีกฝ่ายอาจเสนอเพิ่มเป็น 11,000 บาท หรือมากกว่านั้นได้จนกว่าเราจะพอใจ

ทำการบ้าน


ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าต้องมากพอที่จะใช้ต่อกรกับอีกฝ่ายได้ มิฉะนั้นเราจะไม่มีความมั่นใจไปต่อรอง

ห้ามหนี


การต่อรองเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอดชีวิตและพัฒนาขึ้นตามประสบการณ์เหมือนกับการว่ายน้ำ การเดิน ดังนั้น ทุกครั้งที่มีโอกาสต่อรองให้ใส่ใจและเต็มที่กับมัน

No comments:

Post a Comment