24 February 2014

Senheiser PX100-II Review (Headphone)

เที่ยงวันเสาร์ เดินเท้าออกจากที่พัก ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงอาทิตย์ส่องจ้าจนไม่กล้ามองสู้แสง ได้แต่มองลงพื้น

เดินผ่านประตูไม้โอ๊คบานใหญ่ ที่แง้มไว้เล็กน้อย เดิน slide ผ่านเข้าไปโดยไม่ใช้มือสัมผัส

ทันใดนั้น ผมล้มลง ขยับไม่ได้

โดนยิงเจ้าที่หัว
ผมร้องตะโกนออกมา "ตายอีกแล้ว"
กด Tab เพื่อเช็คสถิติ Kill 0 death 5 ด่าน de_dust2

หลังจากที่ไม่ได้เล่น Counter-Strike นานมาก กลับมาลองเล่นอีกครั้ง เล่นยากขึ้นกว่าเดิม

ถามเพื่อนที่เป็นเซียนเกม มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษ?

เพื่อนบอกว่า "หูฟังเทพ"

ในการเล่นเกม เสียง เป็นหนึ่งมิติการรับรู้นอกเหนือจากการมองด้วยตา หูฟังเทพจะช่วยเก็บตกรายละเอียดที่ไม่ปรากฏบนหน้าจอ ศัตรูวิ่งมาข้างหลัง แน่นอนไม่มีตาหลังหันไปมอง แต่หากเราสามารถเงี่ยหูฟังเสียงเดิน ถ้าเป็นหูฟังถูกๆ จะได้ยินแค่เสียงเดิน ไม่รู้ว่ามาจากทางซ้ายหรือขวา หูฟังที่ดีขึ้นมาหน่อย บอกได้ว่าซ้ายหรือขวา ส่วนหูฟังที่ดีขึ้นมาอีกจะระบุได้อีกว่าใกล้หรือไกล หรือมาจากมุมแทยงข้างซ้าย

คงไม่ซื้อหูฟังที่บอกได้เพียงเสียงมาจากซ้ายหรือขวา อย่างน้อยก็อยากได้รายละเอียดว่าใกล้หรือไกล แทยงมั้ย ตั้งงบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท เกินกว่านี้รู้สึกสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ

การวิจัยหูฟังจึงบังเกิดขึ้น ได้ข้อมูลดังนี้

หูฟังแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก
  1. In-ear และ Earbuds (ใส่ในรูหู)
  2. On-Ear (แปะติดหู)
  3. Around-the-Ear (ครอบหู)
In-Ear มีลักษณะสอดเข้าไปในรูหู อัดเสียงเข้าแก้วหูโดยตรง ในขณะที่ Around-the-Ear ปิดครอบทั้งใบหู ทั้งสองชนิดนี้มีป้องกันเสียงแทรก ทำให้ไม่ได้ยินเสียงข้างนอก เหมาะสำหรับใช้ในที่ที่มีเสียงรบกวนสูงและต้องการความเป็นส่วนตัวสุดๆ เช่น บนรถสาธารณะ

Earbuds  คือ หูฟังปกติ ล็อคเข้าช่องหู ส่วน On-Ear คือ แปะติดหูไว้ หูฟังสองชนิดนี้ไม่ได้ปิดกั้นเสียงจากภายนอก ทำให้ได้ยินเสียงแทรกจากภายนอก

เงื่อนไข


ไม่ชอบบรรยากาศถูกตัดจากโลกภายนอก จึงไม่เอาแบบ In-Ear และ Around-the-Ear

อยากได้หูฟังที่ใส่ได้นานๆ ไม่เจ็บหู ใส่แล้วไม่รู้สึกว่าใส่ แบบ Earbuds ใส่ไปนานๆแล้วเจ็บ เพราะมันยัดเข้าช่องหู ไม่เอา

ตัดตัวเลือกที่ไม่ชอบทิ้ง เลือกหูฟังประเภท On-Ear

หาข้อมูล

ทำการบ้านผ่านอินเตอร์เน็ตก่อน ค้นจากเว็บขายหูฟังโดยเฉพาะเว็บหูฟังชื่อดัง www.munkonggadget.com เว็บ Rating ผลิตภัณฑ์ www.amazon.com และเว็บ audiophile ที่ google จัดชั้นขึ้นมาในอันดับแรก ๆ จนได้รายชื่อสุดยอดหูฟัง On-Ear ในระดับราคาไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งหมด 5 ตัว ทุกตัวมีคุณภาพเสียงใกล้เคียงกัน มีข้อมูลพอสังเขปดังนี้
  1. AKG K420 เบา, พลาสติกอย่างดี, พับเก็บได้, มีซอง, ใช้สายหูฟังสองเส้น, ประกัน 1 ปี
  2. Sennheiser PX100-II สวย, เบา, พับเก็บได้, พกพาสะดวก, มีซอง, ใช้สายหูฟังเส้นเดียว, ประกัน 2 ปี
  3. Sennheiser PX200-II สวย, เบา, พับเก็บได้, พกพาสะดวก, มีซอง, ใช้สายหูฟังเส้นเดียว, นวมหูฟังเป็นแบบกันเสียงภายนอก ประกัน 2 ปี
  4. KOSS portaPro รูปร่างโบราณ, รุ่นยอดฮิต โมเดลนี้ออกมาตั้งแต่ปี 1984 และไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย, พับเก็บได้, พกพาสะดวก, มีถุง,ใช้สายหูฟังสองเส้น, มีลูกเล่นบีบให้แน่นขึ้น/คลาย, สวมใส่ไม่ดี เพราะหนีบผม, ประกันตลอดอายุการใช้งาน
  5. Grado iGrado ตัวขับเสียงดีมากใช้เหมือนรุ่นราคาแพง, แต่ลดต้นทุนด้านอื่นหมดสิ้น, พับเก็บไม่ได้, ใส่นานๆปวดหู, ใช้สายหูฟังเส้นเดียว, คล้องหูฟังด้านหลังคอ, ประกัน 1 ปี

วิจารณ์

iGrado เสียงดีที่สุด เพราะใช้ตัวขับเสียงเหมือนรุ่นราคาแพง แต่เพื่อลดราคาให้ถูก จึงตัดทอนดีไซน์และความใส่สบายลง

KOSS portaPro มีข้อมูลการ Review มากที่สุด โดยเฉพาะเว็บ Amazon มีเสียงตอบรับดีมาก ข้อติ รูปร่าง Retro Future

AKG K420 ได้รับความนิยมในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีข้อมูลจากต่างประเทศ

Sennheiser PX100-II, PX200-II ใส่สบายมากที่สุด และสวย ทันสมัยกว่าหูฟังตัวเลือกอื่น เป็นรุ่นพัฒนาต่อจาก PX100, PX200 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับความนิยมสูง

วิเคราะห์จากข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ถูกใจ Sennheiser PX100-II มากที่สุด เพราะใส่สบาย ดูดี และพับเก็บได้สะดวก

ไปลองของจริงที่ร้านมั่นคง ตัวแรกที่ลองคือ PX100-II น้ำหนักเบากว่าที่คิด คุณภาพเสียงดีมาก โดยเฉพาะเสียงเบส ชัดกว่าหูฟังทั่วไปที่แถมมากับมือถือ จากนั้นถามพนักงานว่ามีตัวไหนแนะนำมั้ย พนักงานหยิบ AKG K420 มาให้ลอง ฟองน้ำหนากว่า PX100-II และใส่สบายกว่า แต่ยังไม่ถูกใจรูปร่าง เพราะสายหูฟังมีสองเส้น กลัวจะพันกันยุ่ง และตัวก้านหูฟังหนาเทอะทะ จึงขอลองหูฟังตัวอื่นเพิ่มอีก พนักงานแนะนำ KOSS portaPro จับครั้งแรก สิ่งแรกที่รู้สึกได้ คือ น้ำหนักเบา ใส่สบายดี ไม่หนีบหู แต่ตัวบอดี้ดูลิเก แนว retro future คงดูเท่ในสมัยปี 1984 และวิธีการพับเก็บยุ่งยาก ยังไม่ถูกใจ พนักงานจึงหยิบ iGrado และ PX200-II มาให้ลอง ที่แปลกใจคือไม่ได้เอ่ยปากบอกรุ่น แต่พนักงานก็หยิบตัวที่เล็งในใจไว้ออกมาให้ทดลองทุกตัว ทางร้านคงคัดสินค้าตัวที่นิยมมาให้ลอง ส่วน iGrado ให้เสียงเบสหนักที่สุด แต่หนีบหูแรงกว่าตัวอื่น ในขณะที่ PX200-II ใส่สบายมากกว่าหูฟังทุกตัวที่ลองมา เนื่องจากนวมหูฟังเป็นแบบหนัง (ตัวอื่นเป็นแบบโฟม) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่ชอบ เพราะมันปิดกั้นเสียงภายนอก

มวยคู่สุดท้ายจึงเหลือระหว่าง KOSS portaPro และ PX100-II ทั้งสองตัวใส่สบายและพับเก็บได้ทั้งคู่ หูฟัง KOSS portaPro มีจุดเด่น เรื่องขายดีที่สุดจากทั้ง 5 รุ่น และมีลูกเล่นเยอะกว่าโดยเฉพาะการปรับความแน่นการหนีบหูได้ แต่ด้วยความเทพ ความครบเครื่องของหูฟัง ทำให้บอดี้เลอะ ซับซ้อนและใช้ยาก ในขณะที่รูปทรงของ PX100-II เรียบง่าย ซึ่งตรงกับความต้องการมากกว่า จึงเลือก PX100-II

ทดลองใช้ PX100-II ในช่วงวันแรกๆ รู้สึกผิดหวังเรื่องสวมใส่สบาย เพราะเมื่อใส่นานๆ หูล้า เพราะหูฟังกดใบหู แต่เมื่อใช้ไปสักพักกลับเริ่มชินไม่เจ็บใบหูแล้ว ส่วนเรื่องเสียง แตกต่างจากหูฟังแถมมือถือ เพราะสามารถแยกเสียงได้ชัดเจน อาทิ ฟังคลิปคุยกันที่มีเปิด background music เบาๆ หากใช้หูฟังแบบอื่นๆ จะแทบไม่ได้ยิน background music และลองใช้เล่นเกม Counter-Strike ได้ยินมิติเสียงชัดเจน ระบุได้ว่าเสียงปืนดังมาจากข้างซ้ายหรือขวา อยู่ใกล้หรือไกล ฟังเพลงก็ได้ยินเสียง stereo ซ้ายขวาสลับไปมา รู้สึกเสียงมีมิติ  และเสียงเบสชัดเจน

เนื่องด้วยมีปัญญาซื้อแค่ไม่เกิน 3,000 บาท ครั้นจะลองหูฟังราคาแพง ระดับหลักหมื่น เพื่อพิสูจน์ว่ามีอะไรดี ก็ไม่อยากลงทุนซื้อเพื่อความสะใจ ทำได้แค่พึ่งเฮียกู(เกิ้ล) ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ระบุว่าหูฟังราคาแพงยังสามารถสร้างความแตกต่างได้อีก

หูฟังที่แพงขึ้นสามารถแยกรายละเอียดเครื่องดนตรีได้ชัด หูฟังขั้นเทพจะเปลี่ยนการรับรู้เสียง เพลงเดิมในหูฟังเก่าจจะกลายเป็นเพลงใหม่ในหูฟังเทพ

สรุปได้ว่าจ่ายเท่าไหร่ ก็ได้คุณภาพเท่านั้น หูฟังราคาแพงย่อมดีกว่าหูฟังราคาถูกแน่นอน

No comments:

Post a Comment